6 เหตุผลที่คุณพ่อคุณแม่ควรชวนลูกเข้าครัว
1. พัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็กและการทำงานประสานกันระหว่างมือและตา
เกิดจากการที่เด็กได้หยิบ จับ สัมผัส ผัก ผลไม้ และใช้งานเครื่องครัว ให้ลูกช่วยเด็ดใบผัก ยอดผักต่างๆ ช่วยล้างผัก ผลไม้ ใช้มือปอกเปลือกส้ม จัดวางลงบนจานให้เรียบร้อย ในระหว่างนั้น ลูกยังได้ฝึกความระมัดระวังจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้งานอุปกรณ์เครื่องครัว เช่น ความร้อน ของมีคมบาด การยกของไม่ให้ตกหล่น โดยที่คุณพ่อคุณแม่ควรอยู่ด้วยเพื่อชี้แนะและช่วยเหลือ
2.พัฒนาภาษาและการสื่อสารระหว่างกัน
การเข้าครัวด้วยกันจะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ที่ลูกอาจจะไม่คุ้นเคยมาก่อน เด็กได้รู้จักชนิดของส่วนประกอบ ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และเครื่องปรุง รวมถึงขั้นตอนการทำอาหาร ที่สำคัญคือเป็นการเรียนรู้จากการสังเกตของเด็กด้วย ไม่ใช่การสอนตรงๆ เช่น ในขณะที่แม่บอกว่า หยิบใบกะเพราะให้แม่หน่อย พร้อมกับชี้นิ้วไป ลูกจะได้สังเกตและเรียนรู้ว่าลักษณะของใบกะเพราะเป็นอย่างไร ลูกได้ฝึกการสังเกตเพื่อแยกแยะความแตกต่างของสิ่งของ หรือคำกริยาที่มีความคล้ายคลึงกันอีกด้วย เช่น ขึ้นฉ่ายกับผักชี การสับและการหั่น
3. พัฒนาสมาธิของลูกให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
การให้ลูกทำอาหารด้วยกับคุณพ่อคุณแม่ เป็นการช่วยให้ลูกมีโอกาสได้ฝึกฝนทักษะการทำงานอย่างมีสมาธิได้เป็นอย่างดี
4.พัฒนาทักษะการทำงานของสมองให้สำเร็จตามเป้าหมาย
การทำอาหารต้องมีการวางแผน ต้องสามารถจดจำข้อมูลไว้ช่วงระยะเวลาหนึงก่อนจะนำมาใช้งาน เช่น อ่านสูตรอาหารว่าต้องใช้ปริมาณเท่าไรแล้วจำไว้ในใจเพื่อมาตวงให้ได้ปริมาณตามนั้น ต้องควบคุมตัวเองให้ทำอาหารร่วมกับพ่อแม่จนสำเร็จถึงแม้อาจจะเริ่มรู้สึกเบื่อขึ้นมาระหว่างทำ และอยากออกไปเล่น แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะให้กำลังใจ พูดชมเชยให้ลูกเกิดกำลังใจ เอาชนะความอยากออกไปเล่น แล้วหันมาพยายามทำอาหารกับคุณพ่อคุณแม่ต่อไป สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นการฝึกทักษะการทำงานของสมองขั้นสูงทั้งสิ้น
5.พัฒนาความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตัวเอง
การที่เด็กสามารถช่วยเหลือคุณพ่อคุณแม่ทำงานที่ดูเหมือนยากในตอนแรกได้สำเร็จ จะส่งผลต่อการรับรู้ตัวตนของเด็ก ทำให้เด็กมีความมั่นใจและภูมิใจในตัวเอง นำไปสู่ความรู้สึกมีคุณค่าว่าตัวเขาสามารถทำประโยชน์ให้แก่ผู้อื่นได้
6.พัฒนาความรัก
ความผูกพันในครอบครัว เด็กจะเรียนรู้ว่าพ่อแม่จะอยู่ข้างๆ คอยช่วยเหลือและให้กำลังใจเขา จากการทำอาหารร่วมกันในบรรยากาศผ่อนคลายที่สำคัญหากลูกสนใจและให้ความร่วมมือในการเข้าครัวกับคุณพ่อคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ควรจะพูดสนับสนุน ชมเชยในความตั้งใจ ความรับผิดชอบและความร่วมมือของลูก หากเกิดความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เช่น ลูกทำจานแตก ทำอาการหรือเครื่องปรุงบางอย่างตกหล่น คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าใจ ยอมรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ ไม่ตำหนิลงโทษเกินกว่าเหตุ เพราะการตำหนิจะทำให้ลูกรู้สึกท้อ รู้สึกว่าตัวเองไม่มีความสามารถจนอาจไม่อยากเข้าครัวในครั้งต่อๆ ไป เพราะกลัวการถูกตำหนิ กลัวความผิดพลาดจนไม่กล้าลงมือทำอะไร และอาจเลยไปถึงการไม่กล้าที่จะเริ่มต้นทำอะไรใหม่ๆ ไปด้วย
เมื่อคุณพ่อคุณแม่รู้แล้วว่าการชวนเด็กๆ เข้าครัวมีประโยชน์แบบนี้ มื้อถัดไปอาจจะได้ลองชวนน้องๆ เข้าครัว ฝึกทักษะและทำอาหารไปด้วยกันก็ได้นะครับ หรืออาจจะเริ่มต้นด้วยการพาน้องๆ มาสนุกกับเพื่อนๆ ในห้องเรียนเพื่อสอนให้น้องๆ ได้เรียนรู้และสนุกกับการทำอาหารที่ A Little Club ชั้น 2 ของโครงการ K PARK PHUKET ก็ได้ครับ
ส่วนหนึ่งจากบทความ Kids 7-9 จาก พญ. ดวงรัตน์ วังเกล็ดแก้ว กุมารแพทย์ศูนย์เด็กพิเศษ โรงพยาบาลสมิติเวชนครินทร์
Certificate in Pediatric Psychological Medicine, The Children Hospital at Westmead Sydney Australia ในนิตยสารบันทึกคุณแม่ฉบับเดือนสิงหาคม กันยายน 2019